วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เทพเจ้าไดอะไนเซิส (Dionysus)


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เทพเจ้า ไดอะไนเซิส (Dionysus)

ไดโอนิซัส (dionysus) หรือ แบกคัสตาม เป็นเทพที่ได้รับการยกย่ององค์หนึ่งในคณะเทพโอลิมเปียน และยังเป็นที่นับถือกันอย่างแพร่หลายในฐานะเทพผู้พบและผู้ครองผลองุ่น อีกทั้งยังเป็นเทพผู้ครองน้ำองุ่น ตลอดจนความมึนเมาเนื่องด้วยการดื่มน้ำองุ่นด้วย
ตำนานของ ไดโอนิซัส เริ่มต้นจากการเป็นบุตรของซูสเทพบดี กับนางสีมิลีผู้เป็นธิดาของแคดมัสผู้สร้างเมืองธีบส์ และนางเฮอร์ไมโอนี ต้นกำเนิดของเทพไดโอนิซัสไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีมากนัก และนับว่าน่าสงสารมากทีเดียว เพราะเธอนั้นเกิดมาด้วยเพราะความหึงหวงของเจ้าแม่ฮีรา ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
เมื่อตอนที่เทพปริณายกซูสได้แอบไปมีความสัมพัทธ์พิศวาสกับนางสีมิลี โดยเทพซูสได้จำแลงองค์ลงมาเป็นชายหนุ่มปกติและลงมาแทะโลมและร่วมสมสู่ด้วย และแม้ว่านางสีมิลีจะรับรู้เพียงแต่คำบอกเล่าของมานพผู้นี้ แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถพิสูจน์ได้ว่ามานพผู้นี้คือเทพซูสจริง อย่างไรก็ตาม นางสีมิลีก็พึงพอใจและยินดีในความรักครั้งนี้ โดยไม่ได้คิดติดใจแต่ประการใด แต่ไม่ช้าเรื่องราวความรักของทั้งคู่ระหว่างซูสเทพบดีกับนางสีมิลี ก็เกิดแพร่งพรายไปถึงหูเจ้าแม่ฮีรา เจ้าแม่รู้สึกหึงหวงในตัวสามีของเธอมาก จึงมุ่งมั่นที่จะยุติเรื่องนี้เสียที ว่าแล้วนางก็จึงจำแลงกายงมาเป็นนางพี่เลี้ยงแก่ของนางสีมิลี และลอบเข้าไปในห้องของนาง พี่เลี้ยงแก่ตัวปลอมพยายามชวนนางสีมิลีคุยเรื่องต่างๆนานาและชักโยงไปถึงเรื่องความรักของนาง และได้กล่าวให้นางคล้อยตามเกี่ยวกับประวัติอันน่าสงสัยของชายผู้เป็นสามี เพื่อให้นางเกิดความรู้สึกสงสัยว่าชายคนดังกล่าวเป็นเทพซูสจำแลงลงมาจริงหรือ โดยบอกให้ชายผู้นั้นปรากฏกายในรูปลักษณ์จริงๆของเทพเจ้าให้นางสีมิลีเห็น ซึ่งนางสีมิลีก็หลงเชื่อในคำแนะนำ และตกลงที่จะทำตามคำกล่าวที่พี่เลี้ยงแก่ชี้ทาง
เมื่อซูสเสด็จลงมาหานางสีมิลีอีกครั้ง นางจึงพยายามหว่านล้อมให้ไท้เธอสาบาน โดยอ้างถึงแม่น้ำสติกซ์ให้เป็นทิพยพยานว่าไท้เธอจะโปรดประทานอนุญาตตามคำที่นางขอหนึ่ง ประการ เมื่อไท้เธอได้สาบานแล้ว นางจึงทูลความประสงค์ให้ซูสเทพบดีทราบ ซึ่งทำให้ไท้เธอถึงแก่ตกตะลึงเพราะไม่คิดว่านางจะทูลขอในเรื่องนี้ แต่ไท้เธอก็ตระหนักในความจริงข้อหนึ่งดีว่า หากไท้เธอสำแดงองค์จริงให้นางสีมิลีเห็น จะทำให้นางสีมิลีที่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก แต่ไท้เธอก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสาบานที่เธอได้ออกปากไปอย่าง เคร่งครัดโดยไม่สามารถบ่ายเบี่ยงได้ เพราะหากละเมิดต่อคำสาบานที่อ้างถึงแม่น้ำสติกซ์อันศักดิ์สิทธิ์เป็นทิพยพยาน ย่อมบังเกิดผลร้ายต่อเทพผู้สาบานทุกองค์ไม่เว้นแม้แต่องค์เทพบดีซูสเองสุดท้าย เทพซูสก็ตัดสินใจเนรมิตองค์จริงให้ปรากฏต่อหน้านางสีมิลี เมื่อนางสีมิลีได้เห็นภาพจริงของไท้เธอแล้วด้วยสายตาอันพร่าพราว นางก็เกินจะทนต่อทิพยอำนาจของไท้เธอได้  และในชั่วพริบตาเดียวก็บังเกิดเป็นกองไฟลุกขึ้นเผาผลาญกายนางจนวอดวายกลายเป็นจุณไป ทำให้นางถึงแก่ความตายไปในที่สุด ซึ่งในขณะนั้น นางสีมิลีจะกำลังทรงครรภ์อยู่ และแม้ว่าเทพซูสจะไม่อาจจะช่วยเหลือชีวิตของนางไว้ได้ แต่ก็ยังสามารถช่วยชีวิตบุตรของไท้เธอออกมาจากกองไฟได้ทันเวลา จากนั้นก็เก็บทารกเอาไว้ในต้นชานุมณฑลของไท้เธอเอง เมื่อครบเวลากำหนดคลอด ทารกก็สามารถคลอดออกมาได้สำเร็จจากต้นชานุมณฑลของไท้เธอ จากนั้น เทพซุสก็ได้มอบทรากของตนให้นางอัปสรพวกหนึ่งที่มีชื่อว่า ไนสยาดีส (
Nysiades) เป็นผู้เลี้ยงดูอนุบาล ซึ่งนางอัปสรพวกนี้ก็ได้เลี้ยงดูเอาใจใส่ทารกผู้น้อยนี้เป็นอย่างดีด้วยความรักใคร่ทะนุถนอม ส่งผลให้เทพซุสโปรดเนรมิตให้พวกเธอได้กลายเป็นกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ไฮยาดีส (Hyades) ส่วนทารกน้อยที่นางอัปสรช่วยเลี้ยงดู มีมีนามว่า ไดโอนิซัส หรือ แบกคัส นั่นเอง
แม้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของไดโอนิซัสจะเป็นเพียงกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ แต่ไดโอนิซัสก็ได้รับการยอมรับให้เป็นเทพอย่างสมบูรณ์เหมือนกับเทพองค์อื่นๆ อีกทั้งยังมีอมฤตภาพไม่แตกต่างไปจากเหล่าเทพสภาอื่น ๆ บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัสด้วย อย่างไรก็ตาม ไดโอนิซัสหลงรักในการเดินทางท่องเที่ยวไปบนผืนดินอันกว้างใหญ่เป็นชีวิตจิตใจ และไม่ว่าจะไปทางไหนก็ทรงนพาความชุ่มชื้นแห่งสุราเมรัยติดไปด้วย จึงทำให้เกิดเป็นกลุ่มบุคคลสองกลุ่มที่เคารพและเหยียดนามไดโอนิซัส สำหรับคนที่มองเห็นถึงคุณงามความดีของไดโอนิซัส ก็จะพากันเคารพนับถือ แต่สำหรับคนใดที่ดูถูกเหยียดหยาม ก็มักถูกลงโทษเสมอ  แต่ในครั้งที่ไดโอนิซัสเพิ่งจะดำรงตำแหน่งเทพ ทำให้ไดโอนิซัสไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้คนหันมานับถือตนเองเสียเท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า คุณและโทษของเธอก็เริ่มประจักษ์ชัดเจนขึ้น ทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่หันมาทำความเคารพนับถือ และร่วมกันสร้างวิหารถวายแด่เทพเมรัยองค์นี้เป็นการใหญ่
ว่ากันว่า ไดโอนิซัส เป็นเทพที่ทำให้พื้นดินเต็มไปด้วยองุ่นรสเลิศที่ล้วนแต่มีคุณประโยชน์มากมาก ทั้งประโยชน์ด้านความอิ่มหนำสำหรับ และความชื่นบานเมื่อได้บริโภค แต่ก็มีหลายครั้งหลายหน ที่ไดโอนิซัสทำให้ผู้คนกลายเป็นคนวิกลจริตไปได้ ดังตัวอย่างของสตรีกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า เมนาดส์ (
Maenads) พวกเขาเหล่านี้ถูกพิษของเมรัยเล่นงาน จนทำให้เป็นบ้าเสียสติไปเสียทุกคน พวกนางต่างพากันกระโดดโลดเต้น และร้องรำทำเพลงไปตามป่าอย่างไร้สติด้วยอำนาจของสุรา และบางครั้งก็เข้ามาห้อมล้อมเพื่อติดสอยห้อยตามไดโอนิซัสไปด้วย ในยุคโรมัน หลังจากที่ไดโอนิซัสได้มีนามเป็นภาษาละตินว่า แบกคัส (Bacchus) คณะนางผู้เสียสติที่รอบล้อมไดโอนิซัส ก็ได้รับชื่อใหม่ว่า แบกคันทีส(Bacchantes) เช่นกัน ซึ่งภาพของเทพองค์นี้ก็มักจะเป็นภาพที่แสนประหลาดกว่าเทพองค์อื่นๆ เพราะจะเห็นเป็นชายหนุ่มรูปงามที่แวดล้อมไปด้วยผู้หญิงบ้าตามติดไปตลอดการเดินทาง
เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวความรักของไดโอนิซัส ก็มีอยู่บ้างแต่มักเป็นความรักที่ไม่ได้ลงเอยด้วยความสุขเสียเท่าไร กล่าวคือ ตอนที่ไดโอนิซัสไปพบกับอาริแอดนี่ (
Ariadne) ธิดาเจ้ากรุงครีตที่มีนามว่าท้าวไมนอส และได้ช่วยเหลือนางเอาไว้ เรื่องราวเริ่มต้นจากที่ท้าวไมนอสได้เลี้ยงอสูรร้ายตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า มิโนทอร์ เอาไว้ใต้ดิน และเมื่อวีรบุรุษธีลิอัสได้เดินทางไปยังครีต ก็ได้ตกเป็นเหยื่อแก่มิโนทอร์ อาริแอดนี่เองก็เกิดมีใจหลงรักกับเจ้าชายหนุ่ม จึงพยายามหาทางช่วยเหลือ และสามารถพาหนีออกเกาะครีตได้สำเร็จ แต่ทว่านางอาริแอดนี่กลับถูกทอดทิ้งเอาไว้อย่างเดียวดายบนเกาะร้างแห่งหนึ่งเพียงลำพัง ซึ่งพอดีที่ไดโอนิซัสผ่านไปพบเข้า จึงเกิดความสงสารและหลงรักนาง แต่ความรักที่มีก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะสุดท้ายนางอาริแอดนี่ก็สิ้นชีวิตลงในที่สุด ทำให้ไดโอนิซัสรู้สึกเสียใจอย่างหนัก และไม่คิดจะไม่มีรักใหม่อีกเลย
ส่วนชีวิตของไดโอนิซัสเองนั้นก็แสนเศร้าพอๆ กับความรักของตัวเอง เพราะคงไม่มีใครคิดหรอกว่า เทพไดโอนิซัสผู้มีกายเป็นอมฤตภาพ จะมีโอกาสสิ้นใจตายได้เช่นกัน เรื่องเล่านี้ถูกถ่ายทอดโดยนักกวีชาวกรีกโบราณที่เขียนขึ้นตามความเป็นจริงของต้นองุ่น เรื่องเล่ามีอยู่ว่า
เมื่อถึงฤดูกาลเก็บองุ่น ชาวบ้านจะตัดเอากิ่งองุ่นที่เคยติดเต็มต้นออกไปหมด และเหลือเอาไว้แต่เพียงต้นองุ่นเดี่ยวๆ ซึ่งมองดูน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเห็นเพียงลำต้นลุ่น ๆ ปราศจากกิ่งก้านสาขา แต่เพียงไม่นาน ต้นองุ่นก็จะค่อย ๆฟื้นตัวก และแตกแยกกิ่งก้านและใบออกมาใหม่อย่างสวยงาม และต่อจากนั้นไม่นานก็จะผลิดอกออกผลมาเป็นที่เจริญตาอย่างยิ่ง ซึ่งก็เปรียบเหมือนตามตำนานของเทพไดโอนิซัส กล่าวคือ เทพไดโอนิซัสเคยถูกยักษ์เผ่าวงศ์ไทแทนรุมทำร้ายอย่างโหดร้ายน่าสยองขวัญ ไดโอนิซัสถูกยักษ์ฉีกร่างออกเป็นชิ้น ๆ เปรียบดั่งต้นองุ่นที่ถูกตัดกิ่งก้านสาขา แต่ไม่นานนัก เทพไดโอนิซัสก็สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง และในเวลาที่เธอฟื้นขึ้นมาจากความตายนี่เอง ที่ทำให้ทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างพาก็ชื่นชมยินดี และร่วมจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างรื่นเริงเพื่อรับขวัญกันอย่างเอิกเกริก ซึ่งการฟื้นจากความตายครั้งนี้ก็เพราะไดโอนิซัสได้ช่วยเหลือจากมารดาที่เธอไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ให้สามารถรอดพ้นจากเงื้อมือของยมเทพได้  และนำเธอขึ้นไปสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัสได้อย่างปลอดภัย
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ เทพไดโอนิซัสได้พยายามติดตามหามารดาไปจนถึงปรโลก ซึ่งเมื่อได้พบแล้ว เธอก็พยายามขอมารดาคืนจากยมเทพฮาเดส แต่มัจจุราชก็ไม่ยินยอมที่จะคืนให้ ทำให้เกิดปากเสียงโต้เถียงกันขึ้น ว่าใครนั้นมีอำนาจที่เหนือกว่า ไดโอนิซัสเปล่งวาจาออกไปคำเดียวว่า ตนนั้นมีอำนาจที่เหนือกว่ามัจจุราช เพราะสามารถจะตายและฟื้นคืนชีพได้อีก ซึ่งไม่เคยมีเทพองค์ใดสามารถทำได้อย่างไดโอนิซัสเลย ซึ่งเทพฮาเดสก็เห็นด้วยตามคำพูดของไดโอนิซัส จึงยอมปล่อยตัวนางสิมิลีให้แก่บุตรชายและปล่อยให้พาตัวออกจากแดนบาดาลไปอย่างปลอดภัย จากนั้น เทพไดโอนิซัสก็ได้พาตัวมารดากลับขึ้นสวรรค์ชั้นโอลิมปัส โดยมีเหล่าเทพน้อยใหญ่คอยต้อนรับนางสิมิลีเป็นอย่างดี และนางสีมิลีก็เป็นหญิงอมตะผู้เดียวที่สามารถอาศัยอยู่ท่ามกลางเหล่าเทพทั้งปวง โดยที่ฮีร่าเทวีไม่สามารถทำร้ายอะไรนางได้อีกต่อไป
เทพไดโอนิซัส (
Dionysus) หรือ Dionysos หรือ Bacchus ในเทพนิยายกรีกและโรมัน ถือเป็นทั้งเทพเจ้าแห่งไวน์ รวมถึงเป็นเทพผู้นำความเจริญด้านอารยธรรม(Civilization) , ผู้กำหนดกฏระเบียบ(Lawgiver) , ผู้รักในสันติภาพ (Lover of Peace) และเป็นผู้รวบรวมเอาความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร (Agriculture) มาไว้ด้วยกัน และยังเป็นเทพที่มีความสำคัญในการละคร (Theater) ด้วย และในบางแห่งก็ขนานนามเทพองค์นี้ว่า “The god of cats and savagery” หรือ เทพแห่งเหล่าหญิงเลวและคนป่าเถื่อน
สัญลักษณ์แห่งเทพไดโอนิซัส ก็คือ วัวตัวผู้(
Bull), งูใหญ่(Serpent), ต้นไอวี่ และไวน์ (The ivy and wine) และมีพาหนะเป็นเสือดาว ดังจะเห็นภาพของไดโอนิซัสที่มักจะออกมาในรูปของเทพผู้ขี่เสือดาว (Leopard) สวมใส่อาภรณ์เป็นหนังเสือดาว หรืออาจเป็นเทพผู้ทรงราชรถที่ถูกชักลากโดยเสือดำ(Panthers)


เทพเฮอร์เมส (Hermes)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เทพเจ้าเฮอร์เมส (Hermes)


เมอร์คิวรี่ (Mercury) หรือ เฮอร์มีส (Hermes) เป็นเทพบุตรผู้เป็นลูกของซูสเทพบดี กับ นางมาย หรือ เมยา (Maia) เฮอร์มีสเป็นเทพที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างมาก และมักเห็นรูปของเธอปรากฏบ่อยครั้งมากกว่าเทพองค์อื่น ๆ ผู้คนมักจะนำเอารูปของเทพองค์นี้ หรือของวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งของเธอ เช่น เกือกมีปีก เป็นต้น มาเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายที่บ่งบอกความเร็ว ซึ่งนอกจากเกือกติดปีกแล้ว ยังมีหมวกติดปีก และไม้ถืออันศักดิ์สิทธิ์ติดปีก ซึ่งแสดงถึงว่า เธอนั้นสามารถ ไปได้เร็วเพียงความคิดทีเดียว
เพตตะซัส (Petasus)’ คือ หมวกมีปีก ส่วน ทะเลเรีย (Talaria)’ คือ เกือกมีปีกของเฮอร์มีส ซึ่งเป็นสิ่งของที่เฮอร์มีสได้รับประทานมาจากซูสเทพบิดา ซึ่งโปรดให้เธอทำหน้าที่เป็นเทพผู้สื่อสารประจำพระองค์ ส่วน กะดูเซียส (Caduceus)’ ก็คือไม้ถือศักดิ์สิทธิ์ ที่เดิมทีแล้วเป็นของเทพอพอลโลที่มีไว้ใช้สำหรับต้อนวัวควาย เพราะครั้งหนึ่งเฮอร์มีสได้ไปขโมยวัวของอพอลโลไปซ่อน เมื่ออพอลโลเกิดระแคะระคายสงสัยก็มาทวงถามให้เฮอร์มีสคืนวัวให้แก่เธอ แต่เฮอร์มีสที่ยังอยู่ในวัยเยาว์กลับย้อนถามอย่างหน้าตาเฉยว่า วัวอะไรที่ไหนกัน เธอนั้นไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยินมาก่อน ทำให้อพอลโลต้องนำความไปฟ้องต่อเทพบิดาซูส เพื่อให้พระงองค์ช่วยไกล่เกลี่ยคืนวัวให้แก่ตนเจ้า หลังจากที่อพอลโลได้วัวคืนตามต้องการแล้ว ก็ไม่ได้จะถือเอาความต่อเทพผู้น้องแต่อย่างไร แม้ว่าวัวของอพอลโลจะขาดหายไป 2 ตัว เนื่องจากเฮอร์มีสนำไปทำเครื่องสังเวยก็ตาม อพอลโลเห็นว่าเฮอร์มีสนั้นมีพิณคันหนึ่งที่เรียกว่า ไลร์ (lyre) ซึ่งเป็นของประดิษฐ์ที่เฮอร์มีสทำขึ้นมาเองจากกระดองเต่า อพอลโลก็เกิดความอยากได้ จึงได้นำเอาไม้กะดูเซียสของตนไปแลกกับพิณของเฮอร์มีส ทำให้ไม้ถือกะดูเซียสกลายเป็นสมบัติและเป็นสัญลักษณ์ของเฮอร์มีสนับตั้งแต่ครั้งนั้นมา ซึ่งเดิมทีแล้ว ไม้กะดูเซียสนี้เป็นไม้ถือที่มีปีกลุ่น ๆไม่มีการตกแต่งอันใด  แต่ต่อมา เมื่อเฮอร์มีสถือไม้ไปพบงู 2 ตัวที่กำลังต่อสู้กัน เธอจึงนำเอาไม้กะดูเซียสทิ่มเข้าไประหว่างกลาง เพื่อห้ามไม่ให้งูทั้งสองวิวาทกัน แต่งูนั้นได้เลื้อยขึ้นมาพันอยู่กับไม้ และหันหัวเข้าหากัน ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมางูทั้งสองตัวนี้ ก็พันอยู่คู่กับไม้ถือกะดูเซียสตลอดไป อีกทั้งเรื่องเล่านี้ก็ยังทำให้ไม้ถือกะดูเซียสกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นกลาง รวมไปถึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัตจุบันนี้ด้วย
หน้าที่ของเฮอร์มีสไม่ได้เป็นเพียงเทพพนักงานที่ช่วยสื่อสารของเทพซูสเท่านั้น แต่เทพเฮอร์มีสยังเป็นเทพครองการเดินทาง การพาณิชย์ และการตลาด ที่เหล่าหัวขโมยนับถือบูชากันด้วย เพราะว่า เฮอร์มีสเคยขโมยวัวของอพอลโลตามที่เล่าเอาไว้ข้างต้น  เฮอร์มีสยังมีหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ที่จะนำพาวิญญาณคนตายลงไปสู่ยมโลก จนได้รับสมญานามอีกชื่อหนึ่งว่า เฮอร์มีสไซโคปอมปัส (Hermes Psychopompus)”  หรืออาจกล่าวได้ว่า เฮอร์มีสถือเป็นคนกลางในการสื่อสารหรือประกอบกิจการต่างๆทุกประการ ทุกๆอย่างจึงอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลของเฮอร์มีสทั้งสิ้น
แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจในตัวของเฮอร์มีส ก็คือ ถึงแม้ว่าเฮอร์มีสจะเป็นโอรสของซูสเทพบดีกับนางเมยา (Maia) ซึ่งเป็นเพียงแค่อนุภรรยา แต่เฮอร์มีสก็ทรงเป็นโอรสเพียงองค์เดียวของซูส ที่เทวีฮีร่าไม่ทรงรู้สึกเกลียดชัง ในทางตรงข้าม กลับเรียกหาให้เฮอร์มีสเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ ด้วยอย่างบ่อยครั้ง ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะนิสัยและบุคลิกของเทพเฮอร์มีสที่มีใจรักในการช่วยเหลือทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทวยเทพหรือแม้แต่มนุษย์ธรรมดา ดั่งที่ครั้งหนึ่งเฮอร์มีสเคยได้มีโอกาสช่วยปราบยักษ์ร้ายฮิปโปไลตุล หรือช่วยเทพซูสผู้เป็นบิดาให้พ้นจากการทำร้ายของยักษ์ไทฟีอัส อีกทั้งยังช่วยอนุองค์หนึ่งของเทพบิดาที่ชื่อว่า นางไอโอ ให้รอดจากความตายจากการถูกสังหารของอาร์กัสที่อสูรพันตาของเจ้าแม่ฮีร่า หรือการช่วยเหลือเลี้ยงดูไดโอนิซัสตั้งแต่แรกเกิด ส่วนในด้านการช่วยเหลือมนุษย์ เฮอร์มีสก็ไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเธอเคยช่วยเหลือเปอร์ซีอุสจากการถูกนางการ์กอนเทดูซ่าสังหาร  ช่วยเหลือเฮอร์คิวลิสเมื่อตอนที่ต้องเดินทางสู่แดนบาดาล อีกทั้งยังช่วยเหลือโอดีสซีอัสให้รอดพ้นจากการถูกนางเซอร์ซีทำร้าย และช่วยเหลือให้เตเลมาดุสสามารถตามหาบิดาของตนจนพบ เป็นต้น
แต่เฮอร์มีสก็ยังมีนิสัยบางอย่างเช่นเดียวกับเทพบุตรองค์อื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้ยกย่องหญิงผู้ใดมาเป็นชายาของตนแบบเป็นทางการ ได้แต่สมัครรักใคร่หญิงงามต่างๆนานาไปทั่วแบบนับไม่ถ้วน มีเรื่องเล่าว่า เฮอร์มีสชอบเสด็จลงไปในแดนบาดาลอยู่บ่อย ครั้ง เพราะเธอแอบไปหลงเสน่ห์ของเทวีเพอร์เซโฟนี ผู้เป็นชายาของเทพฮาเดส จ้าวแดนบาดาลนั่นเอง ส่วนความรักกับหญิงที่เป็มนุษย์ ก็พบว่าเฮอร์มีสก็มีรักร่วมกับสตรีมนุษย์มากมายเช่นกัน  เช่น อคาคัลลิส (Acacallis) ผู้เป็นธิดาของท้าวไมนอสแห่งกรุงครีต เป็นต้น และเมื่อเฮอร์มีสเดินทางขึ้นไปสู่สวรรค์โอลิมปัสก็ได้ไปเกิดหลงรักกับเทวีเฮเคตี และเทวีอโฟร์ไดที่ ในทำนองรักข้ามรุ่น

เทพีอาร์เทมีส (Artemis) เทพีแห่งจันทรา




ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เทพีอาร์เทมีส (Artemis)


อาร์เทมิส จันทราเทพีแห่งกรีก

ก่อนหน้านี้ได้พูดถึงเทพอะพอลโล ผู้เป็นสุริยเทพหน้าตาดีกันไปแล้ว คราวนี้ก็ต้องขอพูดถึงเทพีอาร์เทมิสผู้งดงามและสง่างามไม่แพ้กับเทพอะพอลโลผู้เป็นพระเชษฐากันบ้าง ทั้งสองพระองค์ถือเป็นพี่น้องฝาแฝดชายหนุ่มของกันและกัน ซึ่งโด่งดังมากที่สุดเลยทีเดียว เทพีอาร์เทมิสถือเป็นพระธิดาของเทพซีอุสและเทพีแลโตนา ซึ่งชีวิตของพระองค์ในครั้งที่เป็นเด็กนั้นไม่ได้ราบรื่นเสียเท่าไร ตามที่เคยได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนของ เทพอะพอลโล สุริยเทพแห่งกรีก
เทพีอาร์เทมิส ถือเป็นจันทราเทพีผู้ปกครองช่วงเวลาในตอนกลางคืน และถือเป็นเทพีผู้มอบแสงสว่างให้แก่รัตติกาลอีกด้วย ในขณะเดียวกัน พระเทพีก็ยังมีแนวทางที่แตกต่างจากเทพีองค์อื่นๆ โดยเทพีอาร์เทมิสจะมีลักษณะออกแนวบู้ๆ รักการล่าสัตว์ พระองค์จะมีอาวุธคู่กายเป็นคันธนูและลูกศรติดตัวเอาไว้อยู่เสมอ พระองค์จึงมักถูกนับถือในนามของเทพีผู้คุ้มครองสัตว์ป่าเสียมากกว่า หากมีผู้ใดที่เข้าไปในเขตป่าของพระองค์โดยไม่ได้รับการยินยอม และเข้ามาทำร้ายหรือจับสัตว์ีป่าที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตของพระองค์แล้ว หากพระเทพีทราบเข้าก็จะทำการสังหารบุคคลผู้นั้นจนตายด้วยลูกธนู
เทพีอาร์เทมิสถือเป็นเทพีที่ดำรงอยู่ในพรหมจรรย์ตามรอยเทพีเฮสเทียและเทพีอธีน่า เนื่องจากพระองค์เห็นมาก่อนว่า เทพีแลโตนาผู้เป็นมารดาจะอดทนอยู่กับความทุกข์มากมายเพียงใด ซึ่งเธอนั้นต้องฝันฝ่าอุปสรรคความรักที่ลิขิตให้มาเป็นพระชายาเทพซีอุสโดยมีเทพีเฮร่าตามรังควาญ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระเทพีกลัวความจริงในการออกเรือน และให้สัญญาว่าจะไม่ขอมีครอบครัว อีกทั้งยังขอรักษาพรหมจรรย์ที่มีเอาไว้ยิ่งชีพ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีตำนานบางเรื่องที่กล่าวถึงพระเทพีผู้นี้ว่าเคยไปหลงรักกับบุรุษรูปงาม 2 คน ที่มีนามว่า ไอโอออน กับ เอนดิเมียน แต่เรื่องราวของตำนานเหล่านี้ก็มักจะจบท้ายแบบไม่ดีเสียทุกครั้ง ทำให้สามารถบอกได้เลยว่า ความรักของเทพผู้นี้เป็นความรักที่น่าสงสารและไม่ค่อยจะสมหวังเสียเท่าไร
ตามคำบอกเล่าว่ากันว่า  เทพีอาร์เทมิสมีรูปกายงดงาม เป็นที่น่าเคารพ และถือเป็นเทพีแห่งแสงจันทร์ แต่ก็ยังพบว่าบางตำนานมีการกล่าวถึงเทพีอาร์เทมิสในอีกรูปแบบ ว่าพระองค์นั้นมีความโหดเหี้ยมอำมหิตไม่เหมือนเทพีองค์อื่นๆ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
กล่าวถึงตำนานของนายพราน
แอคเตียนที่บังเอิญพลัดหลงเข้าไปในป่าต้องห้าม เขาผู้นี้น่าสงสารเป็นอย่างมากเพราะไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งบริเวณที่หลงทางถือเป็นเขตอาณาเขตของเทพีอาร์เทมิส เขาผู้นี้บังเอิญไปเจอเทพีอาร์เทมิสที่กำลังออกมาอาบน้ำเข้า เทพีอาร์เทมิสอาบน้ำอย่างสบายใน โดยมีนางไม้หลายต่อหลายตนค่อยดูแลอยู่ไม่ห่าง ด้วยความงามของเทพีอาร์เทมิส ที่มีผิวขาวนวลเหมือนแสงจันทร์ เส้นผมเปล่งประกายคล้ายทองคำที่ถูกส่องด้วยแสงอาทิตย์ ทำให้นายพรานหนุ่ม แอบดูอยู่ในพุ่มไม้บริเวณใกล้ๆนั้นแบบไม่วางตา แม้จะรู้สึกเกรงกลัวในฤทธิ์เดชของเทพีองค์นี้อยู่ไม่น้อย โชคร้ายที่พระเทพีก็ได้เหลือบไปเห็นแสงประกายแสนแปลกประหลาดที่โผล่ออกมาจากพุ่มไม้ จึงรู้สึกผิดสังเกตและรับรู้ได้ว่ามีใครบางคนกำลังแอบดูพระองค์อยู่ พระเทพีเทพีอาร์เทมิสรู้สึกพิโรธเป็นอย่างมากที่ถูกแอบถ้ำมอง เมื่อนายพรานรู้ตัวว่าพระเทพีจับได้ว่าตนแอบกระทำการมิชอบ ก็คิดจะหนี แต่ว่าพระเทพีเทพีอาร์เทมิสก็ได้ใช้มือตักน้ำขึ้นมาสาดไปถูกนายพรานหนุ่มอย่างเจ็มแรง ซึ่งเมื่อนายพรานโดนน้ำก็กลายร่างไปเป็นกวางป่าไป นายพรานในร่างของกวางพยายามวิ่งหนีอย่างสุดกำลังเพื่อหวังจะออกไปเพื่อขอความช่วยเหลือจากใครสักคน แต่บังเอิญได้ไปพบกับสุนัขล่าเนื้อของตนเข้า แต่สุนัขตัวนี้ออกตามไล่กัดนายพรานผู้เป็นเจ้าของเพราะไม่รู้ว่ากวางตัวนี้คือนายของตนเอง และสุดท้ายนายพรานหนุ่มก็ต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากถูกสุนัขล่าเนื้อของตนสังหารอย่างน่าสังเวช
เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อครั้งต่อมาได้กล่าวถึงชายหนุ่มที่มีชื่อว่า
แอดมีทัสเขาผู้นี้เป็นสาวกที่มีหน้าที่ในการถวายเครื่องสักการะแด่องค์เทพีอาร์เทมิส แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาได้ไปพบรักกับสาวงามคนหนึ่งและตัดสินใจขอเธอเป็นภรรยา ซึ่งตัวเธอนั้นก็ตบปากรับคำที่จะเป็นภรรยาของเขาอย่างดี ซึ่งทำให้เขารู้สึกปลื้มปิติและยุ่งวุ่นวายกับการจัดงานมงคลสมรสของตนเป็นอย่างมาก ในที่สุด เขาก็หลงลืมหน้าที่ของตน ที่จะต้องทำการถวายเครื่องสักการะแด่พระเทพี เมื่อความครั้งนี้ทราบถึงหูพระเทพีว่าแอดมีทีสหลงลืมหน้าที่ของตนเอง พระองค์ก็รู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก และได้ลงฌดทษด้วยการเสกให้ห้องหอที่แอดมีทีสจะแต่งงานกับเจ้าสาวของเขานั้น เต็มไปด้วยงูพิษมากมายนับไม่ถ้วน
เรื่องเล่าต่อมากล่าวถึงพระราชาที่มีชื่อว่า
ท้าวโอนีอัสผู้ครองเมืองคาลีดอน พระราชาผู้นี้เกิดลืมที่จะถวายเครื่อสักการะแด่พระเทพีเช่นกัน ซึ่งก็มีผลให้พระเทพีเกิดอาการกริ้วเช่นเดิม และทรงบันดาลให้วัวป่าบ้าคลั่งพุ่งเข้าทำลายเมืองคาลีดอนของพระราชาผู้นี้เสีย อีกทั้งวัวป่าตัวนี้ก็ยังเข้าทำร้ายสังหารเชื้อพระวงศ์และครอบครัวของท้าวโอนีอัสจนสิ้นพระชนม์จนหมดสิ้น ซึ่งถือเป็นการลงโทษครั้งหนึ่งจากพระเทพีพระองค์นี้  ที่รุนแรงและโหดร้ายเป็นอย่างมาก
ไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะพระเทพีก็เคยลงโทษนางไม้ผู้น่าสงสารที่มีชื่อว่า
คัสลิสโตเธอนั้นถูกเทพซีอุสจับไปปลุกปล้ำเป็นชายา และเนื่องจากเทพีอาร์เทมิสไม่สามารถว่ากล่าวอะไรต่อเทพซีอุสผู้เป็นบิดาได้ เทพีอาร์เทมิสจึงไปลงมือเอากับนางไม้คัสลิสโตผู้น่าสงสารนี้แทน เทพีอาร์เทมิสสาปให้นางไม้กลายร่างไปเป็นหมี เท่านั้นไม่พอ พระโอรสที่เกิดจากนางคัสลิสโตกับเทพซีอุส ซึ่งไม่ทราบว่าพระมารดาของตนกลายเป็นหมีไปแล้ว ก็ได้ทำการสังหารหมีตัวนั้นตายกับมือ แต่เมื่อมาทราบเอาภายหลังว่าหมีตัวนั้นคือแม่แท้ๆของตัวเองที่ถูกเทพีอาร์เทมิสสาปไป  เขาก็รู้สึกสำนึกผิดเป็นอย่างมาก และตัดสินใจฆ่าตัวเองตายผู้เป็นมารดาไปเพื่อสำนึกในความผิด หลังจากที่เทพีอาร์เทมิสทราบว่าพระองค์เป็นคนผิดที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น เทพีอาร์เทมิสจึงได้เนรมิตให้ทั้งสองแม่ลูกไปเกิดเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า ที่เรารู้จักกันดีว่า ดาวหมีเล็ก กับ ดาวหมีใหญ่
แม้ว่าเมื่อดูภายนอกแล้วเทพีอาร์เทมิสจะเป็นเทพีผู้แข็งแกร่ง เพราะพระองค์ชอบที่จะทำกิจกรรมเยี่ยงบุรุษ เช่น การล่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งคิดว่าพระองค์น่าจะเกิดมาจากอุดมคติแห่งสตรีในสมัยกรีกโบราณที่ต้องการจะให้สตรีสามารถทำการใดก็ได้เฉกเช่นดั่งบุรุษ เพราะเทพก็เปรียบเสมือนกระจกเงาที่บอกสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์บนโลกใบนี้นั่นเอง

วัตถุประสงค์ในการเขียนบล็อค

"บล็อคนี้เป็นการรวบรวมเกี่ยวกับ เทพปกรณัมกรีก วัตถุประสงค์ในการเขียนบล็อค เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย"

เทพเจ้าอพอลโล (Apollo)

          อพอลโล  เป็นบุตรชายคนโตของมหาเทพซุส เป็นหนึ่งใน 12 เทพแห่งโอลิมปัส  เป็นบุตรของซีอุส จอมเทพแห่งสวรรค์และนางเลโต เป็นเทพแห่งแสฟี่นทร์คู่กัน อพอลโล เป็นบุรุษหนุ่มรูปงาม มักเล่นดนตรีด้วยพิณ เชี่ยวชาญการใช้ธนู ในสงครามกรุงทรอย อพอลโลมีบทบาทเป็นเทพที่รักษาชายฝั่งเมืองทรอย ที่เมืองเดลฟี่มีเทวสถานบูชาอพอลโลอยู่

          นอกจากนี้แล้ว อพอลโลยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น ฟีบัส (Phoebus) อาเบล (Abel) ไพธูส (Pytheus) หรือ เฮลิออส (Helios) ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายถึง แสงสว่างทั้งสิ้น


          ปัจจุบัน อพอลโลเป็นชื่อที่ถูกตั้งตามอยู่บ่อยครั้ง โดยมีความหมายในทางที่เกี่ยวกับแสงสว่างหรือความสำเร็จ เช่น เป็นชื่อปฏิบัติการทางอวกาศของนาซา ที่เรียกว่า โครงการอพอลโล หรือเป็นชื่อสินค้าต่างๆ เช่น ยี่ห้อน้ำมันเครื่อง ยี่ห้อหรือชื่อรุ่นรถยนต์ ชื่อบริษัท เป็นต้น


          อพอลโลเป็นเทพที่ถูกปั้นด้วยทองแดงยืนคร่อมอ่าวทะเลอีเจียนที่เกาะโรดส์ ที่มีชื่อว่า เทวรูปโคโลสซูส  นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์โลกยุคโบราณ ด้วยโดยทั่วไปรูปปั้นอพอลโลจะถือเครื่องดนตรีคล้ายพิณและมีลูกบอลทองคำที่เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์


เทพเจ้าแอรีส (Ares)


          แอรีส  หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า มาร์ส (Mars) เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม อาวุธ และชุดเกราะ และเป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัส ด้วย

          แอรีส เป็นเทพแห่งการสงครามเช่นเดียวกับ อธีน่า แต่ทว่าอธีน่าจะได้รับการยกย่องและบูชามากกว่า เนื่องจากอธีน่าเป็นเทพีที่ใช้สติปัญญาวางแผนในการสู้รบมากกว่า ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะเทพีแห่งสติปัญญาด้วย ผิดกับแอรีสซึ่งมักจะใช้ความดุดันและโหดร้ายในการสงครามมากกว่า ซึ่งโฮเมอร์ กวีเอกคนสำคัญของกรีกโบราณ ยังเคยเขียนถึงพระองค์ว่า เป็นเทพที่โหดร้ายและหยาบช้า

           แอรีสเป็นบุตรของซีอุส มหาเทพและพระนางเฮรา มเหสีของซีอุส แอรีสเป็นเทพที่ชาวกรีกไม่นับถือบูชา เพราะถือว่าเป็นเทพที่โหดร้ายและมีเรื่องราวที่น่าอับอายเกี่ยวกับพระองค์เยอะ และถึงแม้จะเป็นเทพแห่งสงคราม แอรีสก็รบแพ้ในการสงครามหลายต่อหลายครั้ง ทั้งแก่มนุาษย์กึ่งเทพเองอย่าง เฮราคลีสและกับอธีน่า เทพีแห่งสงคราม พี่น้องของพระองค์เอง

           แต่แอรีสเป็นที่นับถืออย่างมากของชาวโรมัน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่โปรดปรานการสู้รบ ถึงกับแต่งให้แอรีสเป็นบิดาของรอมิวลุส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรมเลยทีเดียว

          ในทางด้านชู้สาว พระองค์ลักลอบมีชู้กับเทพีอโฟรไดท์จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตให้อับอายไปทั้งสวรรค์ และเป็นอพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์ ที่จับผิดและแก้ไขพฤติกรรมของทั้งคู่

           แอรีส เมื่อเสด็จไปไหน จะใช้รถศึกเทียมม้าฝีเท้าจัดมากมาย แสงเกราะและแสงศาตราวุธส่องแสงเจิดจ้าบาดตาผู้พบเห็น มีบริวารที่ติดสอยห้อยตามอยู่ 2 คนคือ ดีมอส (Deimos) ซึ่งแปลว่าความกลัว กับ โฟมอส (Phobos) แปลว่าความน่าสยองขวัญ บางตำนานก็กล่าวว่า ทั้งดีมอสและโฟบอสเป็นบุตรชายฝาแฝดของแอรีส และชื่อของทั้งคู่ก็เป็นรากศัพท์ของคำว่าความตื่นตระหนก (Panic) และ ความกลัว (Phobia) และในทางดาราศาสตร์ แอรีสหรือมาร์ส คือ ดาวอังคาร ดีมอส  และโฟบอส ก็ถูกตั้งเป็นชื่อของดวงจันทร์บริวารของดางอังคารด้วย

เทพีเฮรา (Hera)


          ฮีรา หรือ เฮรา  เป็นมเหสีและเชษฐภคินี (พี่สาว) ของซูส พระนางเป็นเทพีแห่งหญิงสาวและชีวิตสมรส เป็นผู้ปกป้องสตรีที่แต่งงานแล้ว พระนางทรงประทับบนพระบัลลังก์ทองคำเคียงข้างซูสบนภูเขาโอลิมปัส และทรงพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ใส่พระทัยกับเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมของสวามี ฮีราได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเทพธิดาผู้มีพระกรใสกระจ่างดุจงาช้าง ในตำนานโบราณสัตว์ประจำองค์ของเทพีฮีราคือวัว แต่ในตำนานยุคใหม่นกยูงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระองค์ และจะตามเสด็จอยู่ไม่ห่าง

          เทพีฮีราเป็นที่รู้จักกันดีในด้านของอารมณ์ดุร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชายาองค์อื่นๆของซูส และบุตรที่เกิดจากชายาเหล่านั้น ไม่ว่าพวกนางจะเป็นเทพีหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม ตัวอย่างของผู้ที่ถูกเทพีฮีราปองร้ายมีมากมาย เช่น เทพีลีโต มารดาของเทพอพอลโล่ และ เทพีอาร์ทีมิส เฮอร์คิวลิส ไอโอ ลามิอา เกรานา ซิมิลี มารดาของเทพไดโอนิซัส ยูโรปา เป็นต้น ก็จะเจอจุดจบแบบไม่สวยงาม

กำเนิดของฮีรา

          ฮีราเป็นบุตรองค์ที่ 3 ของโครนัส และ รีอา พระนางถูกโครนัสกลืนลงท้องไปตั้งแต่เพิ่งถือกำเนิดเนื่องจากคำสาปของไกอาที่ว่าบุตรของโครนัสจะโค่นอำนาจของโครนัสเหมือนกับที่โครนัสได้โค่นอำนาจของยูเรนัส แต่ต่อมาเทพีรีอาได้ซ่อนซูส(หรือซีอุสนั่นเอง – zeus) ผู้เป็นบุตรองค์สุดท้องไว้และนำซีอุสกลับมาเพื่อแก้แค้นโครนัส และนำพี่ๆที่ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในท้องของโครนัสออกมา เทพีฮีราจึงปรากฏกายขึ้น

          เชื่อกันว่าเทพีฮีราถูกเลี้ยงดูมาโดยไททันทีธิส และมหากาพย์อิเลียด ในครั้งที่ฝ่ายทรอยกำลังได้เปรียบเพราะซูสได้หนีจากเขาโอลิมปัสไปยังเขาไอดาเพื่อให้การช่วยเหลือชาวทรอย ฮีราได้อ้างว่าจะไปพบกับเทพีทีธิส เพื่อจะได้ขอยืมเครื่องแต่งกายที่สวยที่สุดจากอะธีน่าและสร้อยคอแห่งความปรารถนาจากอะโฟรไดท์ไปใช้ในการล่อลวงให้ซูสหันเหความสนใจจากสงครามแห่งทรอย เปิดทางให้โพไซดอนได้นำกำลังไปถล่มชายฝั่งทรอย